วันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2556
ข้อคิด เมื่อผู้อื่นมาทำให้เราทุกข์
เมื่อมีคนมาทำร้ายเรา มาเบียดเบียนเรา มาทำให้เราทุกข์ เมื่อมันผ่านไปแล้ว หน้าที่ของเราคือ อโหสิกรรม ให้แก่ผู้เบียดเบียนเรา
เพราะการที่เราได้รับทุกขเวทนาจากการถูกผู้อื่นทำร้าย ถูกเบียดเบียน มันเป็นส่วนบาปกรรมเก่าที่เราต้องชดใช้
เพราะเมื่อเรารู้สึกทุกข์เพราะคนอื่น เช่นเพราะคนที่เรารักทำให้เรารู้สึกเจ็บหรือทุกข์ก็ตาม
แต่จริงๆ แล้ว ขอให้เราระลึกว่า ที่จริงมันคือกรรมที่เราเคยทำกับคนอื่นไว้ เราเจ็บและทุกข์อย่างไร ให้รู้ว่าในอดีตเราเคยทำคนอื่นเจ็บแบบนั้นเช่นกัน
เช่น บางทีเราพูดจาไม่ดีกับพ่อแม่
แต่เมื่อพ่อแม่พูดไม่ดีกับเราบ้าง เราอาจไม่เจ็บไม่ทุกข์
กรรมเลยจัดสรรให้เราไปเจอคนที่เรารักคนอื่นมาพูดให้เราเจ็บและทุกข์แทน เป็นต้น
วิธีปฏิบัติที่ถูกต้องคืออะไร
ก็คือ ให้ดูที่ใจว่า ทุกข์นี้เกิดจากใจเราเอง เกิดจากผลกรรมของเราเองในอดีตกำลังส่งผล
คนที่มาทำให้เราทุกข์เป็นแค่กรรมจัดสรรของเราเอง อย่าไปโทษคนอื่นว่าเขามาทำให้เราทุกข์ เพราะนั่นคือการก่อเวรต่อกันอีกไม่รู้จบ
จงให้อภัย เพื่อกรรมของเราจะได้จบ ส่วนถ้าคนอื่นเขาก่อกรรมไม่ดีกับเราจริงหรือไม่นั้น มันก็กรรมของเขาเอง เราอย่าพยาบาทจองเวร
เพียงเท่านี้บาปกรรมของเราก็จะไม่เพิ่มขี้น
เราไม่ต้องไปจองเวรอาฆาตเขา เพราะหน้าที่ของเราคือใช้กรรมในส่วนที่เป็นของเราเท่านั้น
หากเรายังอาฆาตแค้นแก่ผู้เบียดเบียนเรา เราก็จะไม่หลุดพ้นบ่วงเวรบ่วงกรรมนั้น เป็นการจองเวรจองกรรมซึ่งกันและกัน
ซึ่งนั่นคือบ่อเกิดแห่งการไม่มีทางพ้นทุกข์จากวัฏสงสารหรือการเวียนว่ายตายเกิดได้เลย
และเมื่อเราไม่ก่อบาปเพิ่ม วิบากกรรมที่เรากำลังประสบจะค่อย ๆ ลดลง แล้วในที่สุดเราก็จะพ้นจากทุกข์นั้นได้ โดยที่เราแค่อดทนเท่านั้น
สุขทุกข์ล้วนอยู่ที่ใจเราเอง พอวิบากกรรมหมด จู่ ๆ ใจเราก็หมดทุกข์ไปง่าย ๆ ได้เอง
---------------
สำหรับเรื่องการอโหสิกรรมให้แก่ผู้ที่เบียดเบียนเรา ทำให้เราทุกข์นั้น
แต่หลายคนอาจลืมคิดไปว่า การอโหสิกรรม นี่ช่างประเสริฐยิ่งนัก ไม่ใช่แค่ทำให้เราเลิกจองเวรจองกรรมเท่านั้น
การอโหสิกรรม เป็นกุศลกรรมที่มีอานุภาพมากที่สุดเช่นกัน เป็นเสมือนเชื้อเพลิงสะสมที่ช่วยพาเราไปสู่สุคติ เรื่อยไปจนถึงสำเร็จมรรค ผล นิพพานได้เลย
เพราะ อโหสิกรรม ก็คือ อภัยทาน นั่นเอง
อภัยทาน คือ กุศลสูงที่สุดอย่างหนึ่งในพุทธศาสนา บางครั้งอานิสสง์อาจสูงยิ่งกว่า ธรรมทานด้วยซ้ำ
เพราะแม้แต่ผู้รู้ธรรมะ เผยแพร่ธรรมะมามากมาย บางครั้งก็ยังให้อภัยทานไม่ได้เลย ซึ่งมีอยู่มากมาย
บางครั้งการให้อภัยทาน อาจทำได้ยากกว่าการเผยแพร่ธรรม
ต่อให้เผยแพร่ธรรมไปหลายร้อยหลายพันชาติ ก็ไม่สามารถหลุดพ้นได้หากไม่เคยให้อภัยทานแก่ผู้มาเบียดเบียนเราทุกผู้ทุกนาม
-----------------------
ผู้ให้ธรรมทาน เป็นผู้ให้ปัญญา ซึ่งบางครั้ง ผู้ให้ธรรมทานกลับทำเองไม่ได้มีมากมาย
จึงมีข้อถกเกียงว่า ระหว่างธรรมทาน กับ อภัยทาน อย่างไหนมีอานิสงส์มากกว่ากัน
"การให้ธรรมทานชนะการให้ทั้งปวง" ข้อความนี้จริงแท้แน่นอน แต่ผู้ให้ธรรมทานจะต้องเข้าใจและปฏิบัติธรรมที่ตัวเองสอนผู้อื่นได้เองด้วยนะ ถึงจะเป็นธรรมทานที่บริสุทธิ์โดยแท้จริง และมีอานิสงส์มากที่สุด
ไม่ใช่สอนธรรมะผู้อื่น แต่ตัวเองกลับปฏิบัติเองไม่ได้ ผู้ให้ธรรมทานผู้นั้นก็ไม่อาจหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดไปได้
เช่น พระญี่ปุ่นรูปหนึ่งได้สอนธรรมะให้ประชาชนมานานกว่า 30 ปี อาจช่วยให้คนบรรลุธรรมไปแล้วก็ได้ พระญี่ปุ่นย่อมได้อานิสสงส์มากที่ช่วยให้ผู้อื่นบรรลุธรรม
แต่พระญี่ปุ่นเองกลับตัดกิเลสความรักความใคร่เองไม่ได้ ก็เลยสึกออกไปแต่งงานกับผู้หญิงที่ตัวเองรัก นี่ก็คือตัวอย่างนึงของผู้ที่สอนธรรมแก่ผู้อื่น แต่ตัวเองยังละกิเลสไม่ได้
ส่วนอภัยทาน ถือเป็นส่วนหนึ่งของธรรมทาน และไม่ได้มีเฉพาะแค่ในพระพุทธศาสนา ไม่ใช่ต้องเรียนธรรมะในพุทธศาสนาเท่านั้น จึงจะกระทำได้
แต่การให้อภัยทาน เกิดได้ทุกที่ ทุกแห่ง ทุกเวลา ทุกศาสนา เกิดขึ้นได้กับทุกคน หรือแม้แต่ในยุคที่ไม่มีพุทธศาสนาอยู่เลย ก็ยังสามารถให้อภัยทานได้
ความสงบ สันติสุข ไม่เบียดเบียน จองเวรกัน มีพื้นฐานมาจาก การให้อภัยทาน ทั้งสิ้น
ฉะนั้นการให้ อภัยทาน จึงยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับมวลหมู่สรรพสัตว์ทั้งหลายครับ
------------------------
"อภัยทานัง อามิสทานัง ชินาติ" ซึ่งแปลว่า "การให้อภัยทานย่อมชนะเสียซึ่งการให้ทั้งปวง" ดังนี้
อภัยทาน อภัยทานนี้เป็นการให้ทานที่ไม่ต้องลงทุนด้วยวัตถุ แล้วก็เป็นทานสูงสุด
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ใครเป็นผู้มีอภัยทานประจำใจ คนนั้นก็เป็นผู้เข้าถึงปรมัตถบารมีแล้ว
คำว่า ปรมัตถบารมี นี้เป็นบารมีสูงสุดเป็นบารมีที่จะทำให้เข้าถึงซึ่งพระนิพพาน
ผู้ใดไม่รู้จักการให้อภัยทาน ผู้นั้นมิอาจหลุดพ้นจากสังสารวัฏได้
ต่อให้บรรยายธรรมแก่ผู้อื่นมานับร้อยนับหมื่นชาติ ก็ไม่อาจหลุดพ้นได้ ถ้าตัวเองยังไม่รู้จักการให้อภัยทานครับ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น