วันพุธที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2560

ทฤษฎีความสัมพันธ์ผกผันกับหลักความย้อนแย้ง






วันก่อนผมได้ฟังคลิปที่ฝรั่งมันสอนเรื่องความสัมพันธ์กับผู้คน มีทฤษฎีนึงที่สอนว่า

"ถ้าคุณชอบใคร แล้วเขาก็ดูเหมือนจะชอบคุณด้วย ก็ให้คุณจงปฏิบัติต่อเขาเหมือนปฏิบัติต่อคนที่คุณไม่ชอบ หรือปฏิบัติต่อคนที่คุณเกลียด"

เช่น แกล้งเย็นชาใส่ แกล้งปฏิเสธ แกล้งเล่นตัว แกล้งไม่รับโทรศัพท์ หรือแกล้งตอบข้อความกลับช้า แล้วคนที่คุณชอบจะยิ่งคลั่งไคล้คุณมากขึ้น

หรือถ้าใคร ๆ เรียกคนที่คุณชอบด้วยชื่อเล่นของเขากันทั้งนั้น คุณก็จงแกล้งไม่เรียกชื่อเล่นของเขา เพื่อให้เขาคิดว่า คุณไม่สนใจเขา ไม่อยากสนิทสนมกับเขา แล้วเขาจะยิ่งสนใจคุณมากขึ้น

หรือเช่น จงอย่าชมคนที่คุณชอบมากเกินไป แต่จงชมแบบน้อย ๆ หรือแกล้งไม่ชมเลย แล้วเขาจะยิ่งชอบคุณมากขึ้น

*****

คือ ผมเห็นด้วยนะว่า วิธีการที่ฝรั่งมันสอนอาจเป็นวิธีการที่ได้ผลเร็ว

แต่ผมมาวิเคราะห์ว่า ฝรั่งมันมองความสัมพันธ์ของคนเหมือนเป็นเกม แล้วใช้หลักการใส่หน้ากากล่อหลอกกัน

ซึ่งแม้จะได้ผล แต่ผลลัพท์ก็คงเหมือนสังคมฝรั่งเป็นกันมาก คือ รักง่ายหน่ายเร็ว ไร้ความจริงใจต่อกัน ความสัมพันธ์ไม่ค่อยยั่งยืน เพราะเล่มเกมแห่งความสัมพันธ์นี่แหละ

แล้วลองนึกดูว่า ถ้าทั้งสองฝ่ายที่คบกันต่างรู้จักวิธีนี้เหมือนกัน แล้วต่างใช้วิธีแบบนี้ปฏิบัติต่อกัน คุณผู้อ่านความสัมพันธ์ของคนทั้งคู่มันจะลงเอยยังไงล่ะ ?

เอาเป็นว่า ผมไม่ชอบทฤษฎีความสัมพันธ์ในข้อนี้ที่ฝรั่งมันเลย

สำหรับผมนะ เชื่อในความจริงใจมากกว่า

คือหากคิดจะคบกันด้วยความจริงใจ ก็ไม่ต้องมีแผนการณ์หรือเกมใด ๆ ต่อกัน แม้จะมีโอกาส่ประสบความสำเร็จในความสัมพันธ์ได้ช้ากว่าที่ฝรั่งมันสอน แต่ถ้าสำเร็จแล้วมันจะเจอคนที่จริงใจต่อเราอย่างยั่งยืน

เพราะความจริงใจจากคนนั้นหายาก ประหนึ่ง เพื่อนกินเพื่อนเมาเพื่อนเที่ยวหาง่าย แต่เพื่อนที่ยอมตายแทนกันได้หายาก

เขาถึงว่า พิสูจน์ใจหญิงต้องดูตอนผู้ชายตกยาก พิสูจน์ใจชายให้ดูตอนผู้ชายร่ำรวย

อ้อ ลืมบอก ฝรั่งมันเรียกวิธีการนี้ว่า ทฤษฎีความสัมพันธ์ผกผัน

คุณผู้อ่านอาจจะลองไปทดลองใช้ดูก็ได้ เขาว่า ใช้ได้กับทุกความสัมพันธ์ กับเพื่อน กับเจ้านาย กับลูกน้อง กับญาติ ฯลฯ

แต่ผมแนะนำให้เลือกใช้ดี ๆ นะ คือไม่รู้มันจะเป็นบาปด้วยหรือเปล่าน่ะ เพราะการแกล้งต่อกัน หากทำให้อีกฝ่ายเกิดความไม่สบายใจ มันย่อมไม่ใช่สิ่งที่ดี

ที่จริงฝรั่งมันยังมีสอนอีกทฤษฎีคือ อย่าทำตัวเป็นของตาย

ผมฟังแล้ว บางตัวอย่างอย่างก็ดี แต่บางตัวอย่างที่ฝรั่งมันสอน ผมไม่ชอบเอามาก ๆ เลย มันอาจเป็นการสร้างความฉานและความทุกข์ของอีกฝ่ายได้ แถมดูไม่ค่อยจริงใจต่อกัน วิธีมันก็ดูเวิร์คนะ แต่เราชาวพุทธไม่ค่อยเหมาะนักในบางวิธีการ เช่น ผู้ชายหากิ๊กหรือมีเมียน้อยเพื่อเรียกร้องให้เมียหลวงหวงและรักเขามากขึ้น

หรือการทำตัวแบบโปรยเสน่ห์ไปทั่ว เพื่อให้อีกฝ่ายหวงมากขึ้น

แต่ที่ผมชอบอยู่อย่างที่ฝรั่งมันสอน ก็คือ มันสอนเรื่องอย่ายึดมั่นถือมั่น เช่น อย่าไปยึดว่า เธอคือโลกทั้งหมดของฉัน ชีวิตฉันขาดเธอไม่ได้ ถ้าทำแบบนี้ คนที่ถูกชอบมากกว่า เขาจะยิ่งเล่นตัวและจะมองอีกฝ่ายเป็นของตาย

วิธีนี้ผมพอจะชอบหน่อย

-------------------------

แล้วทฤษฎีความสัมพันธ์ผกผัน ต้องแก้ด้วยทฤษฎีอะไร



คำตอบคือ หลักความย้อนแย้ง

เช่น ที่ทฤษฎีความสัมพันธ์ผกผัน ได้สอนว่า จงแกล้งเย็นชา แกล้งปฏิเสธ แกล้งเล่นตัว หรือเช่น แกล้งไม่รับโทรศัพท์ แกล้งตอบข้อความช้า กับคนที่คุณชอบ นั้น

แต่มันมีข้อแม้อยู่ว่า เขาก็ต้องมีใจชอบคุณกลับด้วยเช่นกัน การใช้ทฤษฎีความสัมพันธ์ผกผันจึงจะได้ผล ทำให้เขาชอบหรือคลั่งไคล้คุณมากขึ้น

แต่ถ้าคุณใช้ทฤษฎีผกผันนี้กับคนที่คุณชอบ แต่เขาไม่ได้ชอบคุณเลย หรือไม่ได้เห็นคุณเป็นคนสำคัญของเขาเลย

คนที่คุณชอบเขาฝ่ายเดียว เขาย่อมไม่รู้ว่า คุณกำลังเย็นชาใส่เขา หรือสงสัยว่าคุณกำลังตอบข้อความของเขาช้า

นั่นเพราะเขาไม่ได้ใส่ใจความผิดปกติของคุณ ไม่ได้เดือดร้อนที่คุณหายไป เพราะเขาไม่ได้ห่วงคุณเลย

แต่หลักความย้อนแย้งต่างหากที่จะหวนกลับมาเล่นงานคุณเอง

-------------

ทฤษฎีความสัมพันธ์ผกผันข้อต่อมา เช่น ให้คุณแกล้งไม่เรียกชื่อเล่นของคนที่คุณชอบ (ซึ่งเขาต้องชอบคุณเช่นกัน) ในขณะที่ทุกคนต่างเรียกเขาด้วยชื่อเล่น

ทฤษฎีผกผันบอกว่า ถ้าทำแล้วจะทำให้เขาคิดว่า คุณไม่ได้อยากสนิทสนมกับเขาแล้วจะยิ่งทำให้เขาชอบคุณมากขึ้นนั้น

แต่ในหลักความย้อนแย้งมันกลับสื่อว่า การที่คุณไม่ยอมเรียกชื่อเล่นของเขาเหมือนคนอื่น ๆ นั้น นั่นแสดงว่า คุณกำลังพยายามทำตัวเป็นคนพิเศษสำหรับเขา

ซึ่งถ้าคนที่คุณชอบ เขารู้จักทฤษฎีความสัมพันธ์ผกผันด้วย เขาก็จะชอบที่คุณไม่กล้าเรียกชื่อเล่นของเขาเหมือนที่คนอื่น ๆ เรียก นั่นเพราะคุณเห็นเขาเป็นคนพิเศษ

หรือถ้าคุณเรียกคนโน้นคนนี้ด้วยชื่อเล่นได้อย่างไม่เคอะเขิน แต่คุณกลับไม่กล้าเรียกคนที่คุณชอบด้วยชื่อเล่น นั่นแสดงว่า เขาคือคนพิเศษสำหรับคุณ

----------------------

หลักความย้อนแย้ง กับ เรื่องอย่าทำตัวเป็นของตาย

แต่ถ้าใช้หลักความย้อนแย้งมองกรณีนี้ ก็จะพบว่า

คนที่ถูกคุณมองว่า เขาเป็นของตายนั้น แสดงว่า เขารักคุณจริง หรือจริงใจกับคุณจริง ๆ จนทำให้คุณเกิดความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยไว้ใจว่า เขาจะไม่ทิ้งคุณไปไหน

ซึ่งคนเราพอรู้สึกว่าใครเป็นของตาย ก็จะเริ่มรู้สึกเบื่อหน่าย แล้วอยากจะออกไปหาของเป็นที่น่าตื่นเต้น น่าค้นหามากกว่า

แต่เมื่อคุณผิดหวังจากของเป็น แล้วคิดจะหวนกลับมาหาคนที่คุณคิดว่า เป็นของตายสำหรับคุณนั้น

แต่หลักย้อนแย้งอาจจะสอนคุณว่า บางทีคุณอาจพลาดเสียคนที่จริงใจกับคุณไปอย่างไม่มีวันหวนคืนอีกก็ได้

เพราะของตายได้ตายจากคุณไปแล้วจริง ๆ เพราะหัวใจของคนทุกคนไม่มีใครอยากทุกข์ไปตลอดชีวิตอย่างไร้ความหวัง

ฉะนั้นจงทะนุถนอมคนที่คุณคิดว่า เขาเป็นของตายของคุณเอาไว้ให้ดี

อย่าเพิ่งมาเห็นคุณค่าเมื่อได้สูญเสียของตายไปแล้วล่ะ




counter statistics