ถ้าใครที่ได้มีโอกาสไปสักการะสังเวชนียสถานทั้ง 4 แห่งที่อินเดียและเนปาล ผมถือว่า เขามีบุญมาก เพราะต้องถึงพร้อมด้วยทรัพย์ทั้ง 3 คือ เงินทอง สุขภาพ และศรัทธา มิเช่นนั้นคงยากที่จะไปนมัสการสังเวชนียสถานทั้ง 4 ได้ครบถ้วน
ก่อนอื่นอยากให้รู้จักคำว่า "สังเวชนียสถาน" ก่อน
สังเวชนียสถาน หมายถึง สถานที่อันเป็นที่ตั้งแห่งความสังเวช หรือสถานที่ที่ทำให้เกิดความรู้สึกระลึกถึงพระพุทธเจ้า เกิดความแช่มชื่น เบิกบาน เกิดแรงบันดาลใจที่จะทำความดี เมื่อได้ไปพบเห็น
โดยคำว่า "สังเวช" มาจากศัพท์นามว่า สังเวค สิ่งที่เมื่อมอง เมื่อระลึกทำให้เกิดกำลังพรั่งพร้อม (สัง - พร้อม + เวค - ทำให้เกิดกำลัง) คือ เร้าเตือนสำนึกให้มีจิตใจน้อมมาในทางกุศล เกิดความไม่ประมาทและมีกำลังใจที่จะทำความเพียรปฏิบัติธรรมต่อไป
แต่ในทางภาษาไทย กลับนำคำว่า "สังเวช. มาใช้ในความหมายว่า รู้สึกสลดใจ รู้สึกหดหู่ใจ เป็นในความหมายเชิงลบ ซึ่งผิดจากความหมายเดิม
--------------------
เจตนาของพระพุทธเจ้า
สังเวชนียสถานพระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก่อนปรินิพพานว่า ผู้ใดที่ระลึกถึงพระองค์ก็ให้ระลึกถึงสถานที่สำคัญทั้ง 4 คือ สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา ปรินิพพาน ซึ่งการที่ไประลึกถึงสถานที่เหล่านั้น ...
พระองค์ย่อมไม่ทรงให้ระลึกถึงด้วยความหดหู่แน่นอน แบบนั้นจะกลายเป็นกิเลส เป็นความเศร้าหมองไป
จุดประสงค์ที่ถูกต้องในการเดินทางไปที่สังเวชนียสถาน ก็เพื่อการระลึกถึงพระพุทธเจ้า ว่า
พระพุทธองค์ทรงประสูติที่นี่ ตรัสรู้ที่นี่ แสดงปฐมเทศนาที่นี่ ปรินิพพานที่นี่ เพื่อให้ได้ระลึกรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงของสังขารธรรม นับตั้งแต่สังขารธรรมอุบัติขึ้น จนถึงการดับ ( ประสูติ - ปรินิพพาน)
นอกจากนั้นก็เพื่อระลึกถึงพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ และเจริญรอยตามพระพุทธยุคลบาทของพระพุทธเจ้า อันคือ พระธรรมของพระองค์ตราบจนสิ้นอายุขัย
(ที่มาความหมายสังเวชนียสถานจาก gotoknow)
--------------------
ปาฏิหาริย์เจดีย์พุทธคยาสมัยกึ่งพุทธกาล
(เป็นเรื่องความเชื่อส่วนบุคคล โปรดใช้วิจารณญาณ)
ผมลองเสิร์ชคำว่า ปาฏิหาริย์เจดีย์พุทธคยา ก็มีเรื่องราวของเจดีย์ตรัสรู้ได้แสดงปาฏิหาริย์ ให้ได้อ่านอยู่หลายเรื่อง แต่ก็ไม่มีเรื่องไหนเหมือนเรื่องที่ผมจะเล่าในบทความนี้
เรื่องเจดีย์ตรัสรู้แสดงปาฏิหาริย์นี้ ผมได้อ่านจากหนังสือเก่า ๆ เล่มหนึ่ง ที่ผมพบในบ้านเก่าของผมเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว ตอนนั้นผมช่วยพ่อรื้อของเก่า หนังสือเก่า ๆ ออกมา
ตอนนั้นผมยังค่อนข้างเด็กมาก ๆ แต่ก็ยังพอจดจำเรื่องนี้ได้ดี หากผิดพลาดประการใดก็ขออภัยนะครับ
เรื่องปาฏิหาริย์เจดีย์ตรัสรู้เมื่อปี 2500 กึ่งพุทธกาลนั้น เป็นหนังสือเล่มบาง ๆ มีไม่ถึง 30 หน้าด้วยซ้ำ ซึ่งเขียนโดยคุณ ท.เรียงพิบูลย์ เจ้าของวรรณกรรมเรื่องกฏแห่งกรรมอันโด่งดังในอดีต
คุณ ท.เลียงพิบูลย์ ได้เล่าไว้ว่า ได้เดินทางไปที่พุทธคยาในช่วงกึ่งพุทธกาล เมื่อพ.ศ. 2500 และเป็นช่วงวันวิสาขบูชาในวโรกาสกึ่งพุทธกาลพอดี
ซึ่งผมไม่แน่ใจในเรื่องปี พ.ศ. นะครับ เพราะการนับกึ่งพุทธกาลของไทยและของอินเดียจะแตกต่างกัน 1 ปี อินเดียจะนับเร็วกว่าไทย
ผมรู้แต่ว่า วัดไทยที่พุทธคยาสร้างเสร็จใน พ.ศ. 2500 พอดี จึงไม่แน่ใจว่า คุณ ท.เลียงพิบูลย์ เดินทางไปในปีไหนกันแน่
และในคืนวันวิสาขบูชา ณ. เวลาเที่ยงคืนพอดี คืนนั้นเจดีย์พุทธคยาได้สำแดงปาฏิหาริย์มีแสงสว่างพุ่งออกจากเจดีย์ ลักษณะคล้ายแสงรัศมี ซึ่งมองด้วยตาเปล่าเห็นชัดเจน ดุจดั่งแสงสว่างจากตะเกียงดวงใหญ่ (ไม่ใช่เป็นลำแสงที่พุ่งเป็นเส้น ๆ นะครับ)
แล้วเจดีย์พุทธคยาก็ลอยสูงขึ้นจากพื้นดินให้พอเห็นว่าลอยขึ้นอย่างชัดเจน เจดีย์ลอยกลางอากาศและเปล่งแสงออกมาเป็นเวลาสักพักนึง ก่อนจะแสงจะดับมืดลงเช่นเดิม
ชาวอินเดียในบริเวณนั้น และชาวพุทธที่เดินทางมาที่พุทธคยา ต่างก็เห็นเหมือนกันหมด ซึ่งในยุคเมื่อ 50 กว่าปีที่แล้ว ยังไม่มีแสงจากหลอดไฟฟ้าส่องสว่างไปที่พุทธเจดีย์
ความจริงที่หน้าปกหนังสือเล่มนั้นตามที่ผมเห็น ก็มีรูปเจดีย์พุทธคยามีแสงสว่างรอบองค์เจดีย์เหมือนกัน แต่เป็นรูปขาวดำนะครับ
หนังสือเล่มนั้นก็เป็นหนังสือเล่มที่บาง ๆ ไม่หนาสักเท่าไหร่
หนังสือเล่มนั้นได้หายไปนานแล้ว แต่ผมยังจำเรื่องนี้ได้และอยากนำมาเล่าต่อเพื่อให้ทุกคนที่อ่านได้มีโอกาสรับรู้เรื่องนี้ด้วย
รูปประกอบจากอินเตอร์เนต ไม่ใช่ภาพเหตุการณ์ตามที่เล่า
-------------
เมื่อไม่นานมานี้ได้มีโครงการหุ้มทองคำยอดฉัตรพระมหาเจดีย์พุทธคยา ประเทศอินเดีย ซึ่งได้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จเป็นองค์ประธานการสมโภชน์ทองคำยอดฉัตรพระมหาเจดีย์พุทธคยา 23 ก.พ. 2557 ที่ผ่านมา
ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงอธิฐานจิตต่อทองคำที่จะนำไปหุ้มยอดฉัตรทองคำ ที่เจดีย์พุทธคยาแล้ว
รูป 1 การยกฉัตรมหาเจดีย์พุทธคยา ที่หุ้มทองแล้วขึ้นประดิษฐานบนยอดมหาเจดีย์พุทธคยา
รูปจากเพจโครงการหุ้มทองคำยอดฉัตรพระมหาเจดีย์พุทธคยา-ประเทศอินเดีย
รูป 2 เมื่อมองยอดฉัตรเจดีย์หุ้มทองแล้วในระยะไกล จะเห็นยอดฉัตรทองคำงดงามอร่ามตา
รูปจากเพจโครงการหุ้มทองคำยอดฉัตรพระมหาเจดีย์พุทธคยา-ประเทศอินเดีย
คลิกอ่าน มาฆบูชา ในสาระที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน
กราบ ๆ โมทนา สาธุ นิพพานัง ปัจจโย โหตุ ในบุญกุศลทั้งหลายด้วยครับ สัพเพ สัตตา อเวรา โหตุ
ตอบลบ