วันอาทิตย์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2558

สมเด็จพระมหาอุปราชา คือ พระเอกผู้เสียสละตัวจริง






(หมายเหตุ ยอดไลค์เดิม 204 ไลค์หายไปเพราะความไม่เสถียรของเฟสบุ๊ค)

ช่วงนี้มีภาพยนตร์เรื่อง นเรศวร ตอน อวสานหงสา เข้าฉาย ซึ่งเป็นตอนจบของตำนานสมเด็จพระนเรศวร ที่ฉายต่อเนื่องมากว่า 15 ปีมาแล้ว

ผมเองนั้นไม่ได้ดูหนังเรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวรเลยสักภาค แต่อยากจะย้อนกลับไปเล่าถึงตอนศึกยุทธหัตถี ซึ่งเป็นภาคที่ผ่านมา

ในตอนยุทธหัตถี ฉากที่ไคลแมกซ์ที่สุดของภาคนี้ก็คงไม่พ้นการทำยุทธหัตดีระหว่างสมเด็จพระนเรศวร และสมเด็จพระมหาอุปราชา หรือ มังกะยอชวา โอรสของพระเจ้านันทบุเรง

แน่นอน ตามประวัติศาสตร์และพงศาวดารไทย เรายกย่องให้สมเด็จพระนเรศวรคือพระเอก ผู้เก่งกล้า กษัตริย์มหาราชผู้ปลดแอกกรุงศรีอยุธยาออกจากการเป็นเมืองขึ้นหงสาวดี

ก่อนอื่น ขอปูพื้นทำความรู้จักยุทธหัตถีภายใน 3 นาทีก่อนครับ ก่อนที่ผมจะเล่าในมุมมองอีกมุมมองที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่เคยได้ยิน



เรื่องราวต่อไปนี้ ผมเขียนจากความทรงจำจากที่เคยอ่านเรื่องนี้มาในสมัยเด็ก ๆ นะครับ หากมีข้อบกพร่องอันใดไปบ้างก็ขออภัยไว้ก่อน

เรื่องที่จะเล่านี้ ถ้าผมจำไม่ผิด ผมอ่านมาจากพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งทรงแต่งไว้ในลิลิตตะเลงพ่าย

ลิลิต คือการแต่งโคลงสลับร่าย (อาจจะมีกาพย์ฉบัง ๑๖ เพื่อช่วยเดินเรื่องให้เร็วขึ้น)

ซึ่งต่อมาผมจำไม่ได้แน่นอนว่า ผมได้อ่านในบทประพันธ์แบบร้อยแก้วของผู้ใด ที่ได้แต่งจากการตีความจากลิลิตตะเลงพ่ายอีกทีนึง

เริ่มนะครับ ผมจะขอเล่าเป็นเรื่องเล่าในแบบที่ผมจำได้

ก่อนอื่นเราต้องรู้พื้นหลังก่อนว่า สมเด็จพระนเรศวร ทรงถูกนำตัวไปเป็นองค์ประกันที่กรุงหงสาวดี โดยทรงถูกเลี้ยงเป็นประหนึ่งโอรสบุญธรรมของพระเจ้าบุเรงนอง และทรงมีความสัมพันธ์กับมังกะยอชวา หรือพระมหาอุปราชา โดยทั้งสองพระองค์ทรงสนิทสนมประหนึ่งพี่น้องกัน เพราะเรียนมาด้วยกัน เล่นกันมาด้วยกันตั้งแต่เด็ก ๆ

โดยสมเด็จพระนเรศวรจะเรียกสมเด็จพระมหาอุปราชา ว่า เสด็จพี่ หรือ พระเจ้าพี่

ในพงศาวดารไทยจะเขียนยกย่องว่า สมเด็จพระนเรศวร ทรงเก๋งกว่าสมเด็จพระมหาอุปราชาในทุกด้าน แข่งตีไก่กัน สมเด็จพระนเรศวรก็ชนะ อะไรประมาณนั้น แต่ในพงศาวดารพม่าไม่มีเอ่ยถึงเรื่องนี้แต่อย่างใด

ทีนี้กลับมาที่ลิลิตตะเลงพ่าย ซึ่งได้เขียนแปลความได้ว่า พระเจ้านันทบุเรงมีรับสั่งให้สมเด็จพระมหาอุปราชาไปตีกรุงศรีอยุธยา แต่สมเด็จพระมหาอุปราชาไม่อยากจะทำสงครามครั้งนี้ เหตุเพราะ มีคำทำนายจากโหรก่อนหน้านั้นว่า สมเด็จพระมหาอุปราชาจะทรงมีพระชะตาขาด ถึงฆาต สมเด็จพระมหาอุปราชาจึงทรงทูลพระบิดา

แต่พระเจ้านันทบุเรง ทรงเข้าใจผิดคิดว่า สมเด็จพระมหาอุปราชาทรงหวาดกลัวความเก่งกล้าของพระนเรศวร ถึงได้ยกเรื่องคำทำนายของโหรมาอ้าง แล้วพระเจ้านันทบุเรงก็เลยทรงประชดพระโอรสของพระองค์ว่า ถ้ากลัวข้าศึกศัตรูแบบนี้ ก็ไปเอาผ้านุ่งผ้าถุงของสตรีมาใส่เถิด

เมื่อสมเด็จพระมหาอุปราชา ถูกพระราชบิดาดูถูกต่อหน้าเสนาอำมาตย์ในท้องพระโรง ด้วยความอับอายและทรงเกรงพระราชอาญาด้วย จึงจำใจต้องยอมทำตามพระราชโองการของพระเจ้านันทบุเรง เพื่อมาตีกรุงศรีอยุธยา

แต่ที่ผมเคยอ่านในบทประพันธ์ร้อยแก้วที่แต่งตีความจากลิลิตตะเลงพ่ายนั้น ผมจำได้ว่า ตอนแรกสมเด็จพระมหาอุปราชาไม่ได้พูดถึงเรื่องคำทำนายนั้นแก่พระราชบิดา เพียงแต่ทรงปฏิเสธว่า ยังคิดว่าไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมที่จะไปรบกับกรุงศรีอยุธยาในตอนนี้ แล้วในระหว่างที่ตัดสินใจว่า จะทำตามรับสั่งของพระเจ้านันทบุเรงหรือไม่

พระเจ้านันทบุเรงก็ได้ส่งผ้านุ่งสตรี มาให้สมเด็จพระมหาอุปราชาถึงห้องพระบรรทม

ส่วนพระชายาของสมเด็จพระมหาอุปราชาเอง ก็เกิดได้เห็นสมเด็จพระมหาอุปราชาทรงเงาหัวขาด จึงทรงพยายามจะขอร้องไม่ให้สมเด็จพระมหาอุปราชายกทัพไปตีกรุงศรีอยุธยา แต่สมเด็จพระมหาอุปราชาก็จำใจต้องทำตามคำสั่งของพระราชบิดา

ในบทประพันธ์ร้อยแก้วที่ผมอ่าน มีบทช่วงสมเด็จพระมหาอุปราชาทรงร่ำลากับพระชายา แบบน่าสงสารมาก เท่าที่ผมจำความรู้สึกในตอนที่อ่านได้นะ คือ ทรงร่ำลาอย่างมีเหตุผล และสมเป็นลูกผู้ชายมาก ๆ ที่ต้องไปทำตามหน้าที่ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าอาจไม่ได้มีชีวิตกลับมาพบพระชายาอันเป็นที่รักอีก


พระมหาอุปราชา ใน ตำนานสมเด็จพระนเรศวร ตอน ยุทธหัตถี

-----------------------

ส่วนหนึ่งของพระนิพนธ์ ลิลิตตะเลงพ่าย ตอน  เหตุการณ์ทางเมืองมอญ

"... ธก็เอื้อนสารเสาวพจน์ แต่เอารสยศเยศ องค์อิศเรศอุปราช ให้ยกยาตราทัพ กับนครเชียงใหม่ เป็นพยุหใหญ่ห้าแสน ไปเหยียบแดนปราจิน บุตรท่านยินถ้อถ้อย ข้อยผู้ข้าบาทบงสุ์ โหรควรคงทำนาย ทายพระเคราะห์ถึงฆาต 

ฟังสารราชเอารส ธก็ผะชดบัญชา เจ้าอยุธยามีบุตร ล้วนยงยุทธ์เชี่ยวชาญ หาญหักศึกบมิย่อ ต่อสู้ศึกบมิหยอน ไปพักวอนว่าใช้ ให้ธหวงธห้าม แม้นเจ้าคร้ามเคราะห์กาจ จงอย่ายาตรยุทธนา เอาพัสตราสตรี สวมอินทรีย์สร่างเคราะห์ ธตรัสเยาะเยี่ยงขลาด

องค์อุปราชยินสาร แสนอัประมาณมาตย์มวล นวลพระพักตร์ผ่องเผือด เลือดสลดหมดคล้ำ ช้ำกมลหมองมัว กลัวพระอาชญายอบ นอบประณตบทมูล ทูลลาไท้ลีลาศ ธก็ประกาศเกณฑ์พล..."


--------------------

สงครามยุทธหัตดี

เมื่อช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวร วิ่งตกมันหลงเข้าไปในท่ามกลางกองทัพหงสา

แล้วพงศาวดารไทยก็เขียนยกย่องสมเด็จพระนเรศวรว่า ทรงมีไหวพริบ รีบท้าสมเด็จพระมหาอุปราชาเพื่อกระทำยุทธหัตถีกันตัวต่อตัว เพื่อเป็นพระเกียรติในประวัติศาสตร์สืบไป

ด้วยพระปฏิภาณไหวพริบของสมเด็จพระนเรศวร ทรงเห็นว่าเป็นการเสียเปรียบข้าศึกจึงไสช้างเข้าไปใกล้ แล้วตรัสถามด้วยคุ้นเคยมาก่อนแต่วัยเยาว์ว่า

"พระเจ้าพี่เราจะยืนอยู่ใยในร่มไม้เล่า เชิญออกมาทำยุทธหัตถีด้วยกัน ให้เป็นเกียรติยศไว้ในแผ่นดินเถิด ภายหน้าไปไม่มีพระเจ้าแผ่นดินที่จะได้ยุทธหัตถีแล้ว"


ซึ่งในบทความนี้ ที่ผมเขียนว่า สมเด็จพระมหาอุปราชาทรงเสียสละและเป็นพระเอกตัวจริงนั้น ก็เพราะ ความเป็นจริงเมื่อช้างศึกของสมเด็จพระนเรศวรหลุดฝ่าเข้ามาในวงล้อมของกองทัพหงสา แล้ว

ที่จริงสมเด็จพระมหาอุปราชาก็สามารถรับสั่งให้ทหารจับสมเด็จพระนเรศวรเลยก็ได้ จริงไหม ??

ไม่จำเป็นต้องกระทำยุทธหัตถีก็ได้ เพราะในเมื่อฝ่ายพระองค์กำลังได้เปรียบ อีกทั้งฝีมือของสมเด็จพระนเรศวรก็น่าจะดีกว่าสมเด็จพระมหาอุปราชา คือ ทั้งสองพระองค์เติบโตมาด้วยกัน ย่อมรู้ทางฝีมือกันอยู่พอสมควร

อีกทั้งสมเด็จพระมหาอุปราชาก็เชื่อคำทำนายของโหรว่า พระชะตาของพระองค์ตอนนี้ถึงฆาต ดังนั้นก็ไม่ควรเสี่ยงพระองค์เองไปรบยุทธหัตถีกับสมเด็จพระนเรศวร จริงไหม ?

การที่สมเด็จพระมหาอุปราชาทรงรับคำท้าของสมเด็จพระนเรศวรนั้น ผมจึงมองว่า สมเด็จพระมหาอุปราชาทรงมีความเป็นลูกผู้ชายอย่างสูง และทรงไม่คิดเอาเปรียบสมเด็จพระนเรศวรในการรบ หรืออาจทรงมองเห็นสมเด็จพระนเรศวร ประหนึ่งเป็นน้องของพระองค์ด้วยซ้ำ แม้พงศาวดารไทยจะเขียนทำนองว่า สมเด็จพระมหาอุปราชาจะทรงริษยาสมเด็จพระนเรศวรก็ตามเพราะพระองค์แพ้สมเด็จพระนเรศวรมาตลอด แต่พงศาวดาารพม่าไม่มีเรื่องทำนองนี้

คล้าย ๆ กับ รู้ว่าสู้ไปก็แพ้ สู้ไปก็ตาย แต่ผู้เป็นพี่ยอมเสียสละเพื่อน้อง ประมาณนั้น

การตัดสินใจของสมเด็จพระมหาอุปราชา คล้ายประหนึ่งทรงตั้งใจออกมารบเพื่อตาย ไม่ได้หวังจะได้กลับไปอยู่แล้ว แต่ทรงรบเพื่อรักษาพระเกียรติของพระองค์ ทั้งที่ทรงรู้ว่า โอกาสแพ้มีสูง แต่ก็ทรงรบด้วยศักดิ์ศรีของนักรบผู้กล้า อีกทั้งพระองค์คือองค์รัชทายาท ที่จะต้องพิสูจน์ความกล้าหาญของตัวเองให้พระราชบิดาประจักษ์อีกด้วย

บทความนี้ผมจึงขอยกย่องสมเด็จพระมหาอุปราชา ว่า ทรงเป็นหน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์ผู้กล้าหาญสมชายชาตินักรบ ผู้เสียสละชีวิตของตน เพื่อทำหน้าที่โดยสมบูรณ์ ครับ

-----------------

ส่วนพงศาวดารพม่าเขียนเรื่อง ยุทธหัตถีไว้อีกแบบคือ

การยุทธหัตถีครั้งนี้ ช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรบุกเข้าไปในวงล้อมของฝ่ายพม่า ฝ่ายพม่าก็มีการยืนช้างเรียงเป็นหน้ากระดาน มีทั้งช้างของสมเด็จพระมหาอุปราชา ช้างของเจ้าเมืองชามะโรง ทหารฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรก็ระดมยิงปืนใส่ฝ่ายพม่า เจ้าเมืองชามะโรงสั่งเปิดผ้าหน้าราหูช้างของตน เพื่อไสช้างเข้ากระทำยุทธหัตถีกับสมเด็จพระนเรศวรเพื่อป้องกันพระมหาอุปราชา

แต่ปรากฏว่าช้างของเจ้าของชามะโรงเกิดวิ่งเข้าใส่ช้างของพระมหาอุปราชาเกิดชุลมุนวุ่นวาย กระสุนปืนลูกหนึ่งของทหารฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรก็ยิงถูกพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์

คลิกอาน สื่อไทยมันโง่ ที่เรียก พม่า ว่า เมียนมาร์

คลิกอ่าน ความโง่ของคลิปนักเรียนต่อต้านเรียนประวัติศาสตร์ไทย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น




counter statistics