วันเสาร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2561

กฎหมายแพ่งไทยส่งเสริมให้คนยิ่งโกงจริงไหม







เคยสงสัยไหมว่า ทำไมทุกวันนี้ มีคนไทยขี้โกงมากขึ้น ๆ คิดจะโกงตั้งแต่เรียนยังไม่จบ เช่น โกงเงิน ก.ย.ศ. มีมากถึง 2.2 ล้านราย

เหตุเพราะกฎหมายแพ่งไทยปัจจุบันนี้ ส่งเสริมให้คนโกงไม่เกรงกลัวกฎหมายมากยิ่งขึ้น เป็นพราะความอ่อนแอของบทลงโทษของกฎหมายแพ่งเอง

ตัวอย่างเช่น คดีของน้องการ์ตูน

คดีรถกระบะซิ่งชนพ่อน้องการ์ตูนตาย ส่วนน้องการ์ตูนบาดเจ็บทางสมองสาหัส

ผู้ก่อเหตุติดคุกในคดีอาญาแค่ปีเดียว และได้ออกจากคุกไปแล้ว แต่ผู้ก่อเหตุกลับไม่มีทรัพย์จะจ่ายค่าเสียหายให้ครอบครัวของแม่น้องการ์ตูนตามคำพิพากษาของศาล

แปลง่าย ๆ คือ ต่อให้ศาลตัดสินต้องชดใช้เงินจะกี่ล้านบาทก็ตาม หากผู้ก่อเหตุไม่จ่าย โดยอ้าง ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย ซะอย่าง

คดีแพ่งในยุคนี้ก็ไม่สามารถนำคนผิดที่เจตนาไม่จ่ายค่าเสียหายมาลงโทษติดคุกได้




ด้วยเหตุนี้ คนดี ๆ จึงมักต้องบาดเจ็บหรือตายฟรีไปมากมาย เพราะคนทำผิดไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายเท่าไหร่ ก็เลยไม่คิดจะรับผิดชอบเยียวยาผู้เสียหายตามสมควร

ถามว่า ทำไมคดีแพ่งจึงไม่มีโทษจำคุก ?

ตอบ เพราะคดีแพ่งเป็นคดีที่ฟ้องร้องบังคับเอากับทรัพย์สิน ซึ่งไม่ได้บังคับสิทธิเสรีภาพของตัวจำเลยในคดี ฉะนั้นเมื่อถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีแพ่ง จึงไม่ต้องกลัวว่าจะติดคุก เพราะคดีแพ่งไม่ได้มีโทษจำคุกอย่างเช่นคดีอาญา
(คำตอบนี้โดยเพจปรึกษาปัญหากฎหมายกับทนายพีระพงษ์)

--------------------------

กฎหมายแพ่งไทยส่งเสริมคนโกงลอยนวล ความอยุติธรรมบนความยุติธรรม

ผมมีความเห็นว่า ควรมีการแก้ไขปรับปรุงโดยเฉพาะคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาในคดีอุบัติเหตุที่เป็นเหตุให้ผู้อื่นบาดเจ็บหรือเสียชีวิต เสียใหม่ มิเช่นนั้น จะมีคนดีและครอบครัวต้องบาดเจ็บล้มตายฟรี ๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ถ้าดูจากกรณีคดีของน้องการ์ตูน ที่แม่น้องการ์ตูนโพส จะเห็นประโยคสำคัญคือ "คู่กรณีไม่จ่าย ซึ่งเขาทำได้ เพราะศาลก็แค่ตัดสิน แต่ศาลไม่มีอำนาจบังคับให้ต้องจ่าย"

ใช่ครับ กฎหมายแพ่งไทยตอนนี้ มันผลักภาระไปให้ผู้เสียหายต้องเดือดร้อน ต้องคอยตามสืบทรัพย์ของผู้ก่อเหตุเอาเอง

แล้วเมื่อเจ้าทุกข์พบเจอทรัพย์ของผู้ก่อเหตุแล้ว ถึงจะไปร้องขอให้กรมบังคับคดีมาสั่งการบังคับคดียึดทรัพย์จำเลยมาชดใช้อีกที

แปลง่าย ๆ คือ ถ้าเจ้าทุกข์ไม่มีปัญญาไปตามสืบทรัพย์ของผู้ก่อเหตุ หรือไม่มีเงินจ้างทนายนักสืบให้ไปคอยตามสืบ ก็คงต้องปลงแบบที่แม่น้องการ์ตูนประสบ คือ ไม่รู้จะบังคับให้ผู้ก่อเหตุนั้นเอาเงินมาจ่ายค่าเสียหายได้อย่างไร

ผู้ก่อเหตุก็เลยลอยตัวสบายไป เหตุเพราะกฎหมายแพ่งไทยไม่บีบให้ผู้ก่อเหตุต้องรีบนำค่าเสียหายมาจ่ายเยียวให้แก่ครอบครัวผู้เสียหาย

ผมถึงเหตุควรว่า ควรแก้กฎหมายแพ่งเสียใหม่ เพื่อบีบให้จำเลยต้องรีบนำค่าเสียหายมาจ่ายโดยเร็ว คือ ผมมีแนวคิดว่า

กฎหมายแพ่ง(ที่สืบเนื่องจากคดีอาญาคดีอุบัติเหตุ) ควรแก้ไขให้มีโทษจำคุก เช่น กำหนดไว้ว่า ถ้าภายในกี่ปี (แล้วแต่จะกำหนดไว้ใน กม.) ถ้าผู้ก่อเหตุยังจ่ายค่าเสียหายเยียวยาน้อยกว่า 50 % ของจำนวนเงินที่ศาลได้ตัดสินแล้ว

จำเลยจะต้องถูกนำตัวกลับมาติดคุกอีก 1 ปี เมื่อจำคุกครบ 1 ปีแล้ว จึงค่อยปล่อยตัวจำเลยให้ออกมาหาเงินมาจ่ายค่าเสียหายแก่เจ้าทุกข์ต่อไป

แล้วถ้าภายในอีกกี่ปี (ตามที่กม.กำหนด) หากจำเลยยังไม่สามารถหาเงินมาจ่ายเยียวยาได้อีกตามกำหนด

จำเลยก็ต้องถูกนำตัวกลับมาจำคุกอีก 1 ปี แล้วค่อยปล่อยให้จำเลยออกจากคุกมาหาเงินเพื่อจ่ายค่าเยียวยาแก่ผู้เสียหายอีก ต้องทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ คือ ถ้าจำเลยยังไม่จ่ายหรือจ่ายเงินเยียวยาน้อยไป จำเลยก็ต้องโดนโทษติดคุกซ้ำอีก

มิเช่นนั้น จำเลยจำนวนมากมักจะนิ่งนอนใจ ไม่เดือดร้อนที่จะเร่งรีบหาเงินมาจ่ายค่าเยียวยาแก่ผู้เสียหายตามคำสั่งศาล แต่คนที่เดือดร้อนหนักคือครอบครัวของผู้เสียหาย คือ ทุกวันนี้กฎหมายแพ่งไทยกลับไม่ปกป้องคนดีเท่าที่ควร

ถ้ากฎหมายแพ่งมีบทลงโทษจำคุกให้คนที่มีเจตนาโกง เชื่อว่า จะกระตุ้นให้ผู้ก่อเหตุพยายามหาทางดิ้นรนนำเงินมาเยียวยาผู้เสียหายให้เต็มที่ตามกำลังความสามารถ

ถ้าจำเลยไม่มีเงิน ญาติพี่น้องพ่อแม่ของจำเลย ก็ต้องช่วยกันดิ้นรนหาเงินมาเยียวยาเหยื่อ เพราะไม่อยากให้ลูกหลานของตัวเองต้องติดคุกซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีก

แม้ผู้ก่อเหตุบางรายอาจไม่มีเงินมาจ่ายค่าเยียวยาจริง ๆ แต่อย่างน้อยก็ควรต้องผ่อนชำระบ้างตามกำลังที่มี แต่กฎหมายแพ่งไทยทุกวันนี้ไม่สามารถบีบจำเลยให้มากพอ ให้เกรงกลัวคำตัดสินของศาล

เปรียบคำพิพากษาของศาล เป็นเพียงแค่กระดาษเปล่าเท่านั้น

-------------------------

ย้อนดูผลคำพิพากษาคดีน้องการ์ตูน และผลที่ได้จากคำพิพากษาที่คุณจะต้องเศร้าใจ

ภายหลังคำพิพากษาศาลแพ่ง แม่ของน้องการ์ตูนได้โพสคำพิพากษาลงในเพจของร้านสเต็กคุณแม่น้องการ์ตูน ดังนี้



ศาลตัดสินให้ผู้ก่อเหตุต้องจ่ายค่าเสียหายเยียวยาให้ครอบครัวน้องการ์ตูน มากถึง 6.5 ล้านบาท โดยประมาณ

แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงตอนนี้คือ จำเลยไม่มีการจ่ายเงินเยียวยาเลย เพราะความห่วยของกฎหมายแพ่งของไทย นี่แหละ

จนแม่น้องการ์ตูนท้อแท้ใจถึงขนาดโพสระบายความอัดอั้นตันใจตามนี้

ชีวิตเป็นเพียงเส้นด้าย



ถ้าคุณผู้อ่านได้อ่านบทความนี้แล้ว และไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์คนดี คนทำมาหากิน ต้องมาตายฟรี เพราะความประมาทของคนไร้ความรับผิดชอบ

ก็ถึงเวลาแล้วที่ เราคนไทยควรรณรงค์ให้แก้กฎหมายแพ่งที่เกี่ยวเนื่องจากคดีอาญาในคดีอุบัติเหตุเสียใหม่ ให้มีโทษจำคุกกับคนที่มีเจตนาโกงคนอื่น

ซึ่งถ้าเป็นคนที่ไม่ได้มีสันดานโจร คงไม่มีใครอยากจะติดคุกซ้ำ ๆ หรอกครับ คงต้องหาทางดิ้นรนหาเงินมาจ่ายค่าเสียหาย เพื่อให้ตัวเองหรือญาติพี่น้องของตัวเองรอดคุก

ดังนั้น หากกำหนดโทษจำคุกในกฎหมายแพ่งไว้ สำหรับผู้ที่ไม่ยอมจ่ายค่าเสียหายตามคำสั่งศาล ก็ควรจะเอาผิดลงโทษติดคุกได้

ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นอย่างเช่นทุกวันนี้ ที่คำตัดสินของศาลเป็นเพียงแค่กระดาษเปล่าที่แทบไม่มีค่าอะไรเลยสำหรับผู้เสียหาย

เคยมีคนถามผมว่า ทำไมถึงไม่มีการแก้ไขกฎหมายแพ่งในเรื่องนี้สักที

ผมตอบไปว่า อาจเพราะ คนพาลสันดานโกง เข้ามาเป็น สส. ซึ่งมีหน้าที่ออกกฎหมายและแก้ไขกฎหมายไทย เขาคงไม่ยอมแก้กฎหมายอะไรที่อาจทำให้พวกเขาต้องมาเดือดร้อนในภายหลังมังครับ

------

ตอบข้อสงสัยคดีนี้



ที่จริงยังมีคดีตัวอย่างอีกหลายคดีที่ผู้ก่อเหตุไม่ยอมจ่ายเงินเยียวยาแก่เหยื่อ อย่างมีตัวอย่างคดีนึงน่าสงสารมาก คือ

ผู้เป็นพ่อถูกรถสิบล้อชนตาย เขามีลูก 4 คน ต้องอาศัยอยู่กับย่า คดีนี้ศาลตัดสินให้ผู้ก่อเหตุต้องจ่ายเงินเยียวยา 4 ล้านบาท คดีผ่านมาหลายปี แต่จำเลยก็ไม่ยอมจ่ายค่าเสียหายสักบาท

ทำให้ย่าและหลาน ๆ ทั้ง 4 คน ยากจน ๆ แทบไม่มีข้าวจะกิน เพราะมีรายได้จากเบี้ยผู้สูงอายุของย่าเพียงคนเดียวเท่านั้น

ซึ่งย่ากับหลาน ๆ ก็ช่วยกันหาเงินจากการเก็บขยะรีไซเคิลขายเพื่อยังชีพ แล้วก็ได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้านที่สงสารบ้าง

ผู้เป็นย่าจึงไม่มีปัญญาจะไปจ้างทนายเพื่อตามสืบทรัพย์ของผู้ก่อเหตุ

ในที่สุดย่าต้องมาร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรม เพื่อขอความช่วยเหลือ จนเป็นข่าวเมื่อหลายเดือนก่อน

เราควรร่วมกันรณรงค์แก้ไขกฎหมายแพ่งที่เกี่ยวเนื่องจากคดีอาญาโดยเฉพาะในคดีอุบัติเหตุ เพื่อไม่ให้มีคดีซ้ำซากที่ผู้เสียหายต้องลำบากจนเลือดตาแทบกระเด็น แต่ผู้ก่อเหตุยังลอยนวลไม่จ่ายค่าเยียวยาอีกเลยครับ

คลิกอ่าน วิธีลดจำนวนคนตายจากอุบัติเหตุบนถนนไทยต้องเริ่มที่?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น




counter statistics