วันพุธที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ธรรมะ "จงพอใจในสิ่งที่ตนไม่มี"






"จงพอใจในสิ่งที่ตัวเองไม่มี เหนือกว่าพอใจในสิ่งที่ตัวเองมี"

งง ไหมครับกับคำกล่าวนี้

เพราะเรามักได้ยินคำสอนที่ว่า "จงพอใจในสิ่งตนเองมีอยู่"  ซึ่งเป็นคำสอนที่ดีมาก

แต่ผมกลับคิดในอีกมุมว่า ถ้าเราพอใจในสิ่งที่ตนไม่มีอยู่ล่ะ  จะแตกต่างกันไหม

เช่น ถ้าเรามีมอเตอร์ไซค์อยู่ แต่เราอยากมีรถเก๋ง หรืออยากมีรถกระบะขับมากกว่า เราก็อาจเป็นทุกข์ได้ เพราะความอยากมีรถเก๋ง

ความอยากนั้น ยิ่งอยากมากเท่าไหร่ก็ยิ่งทุกข์มากขึ้นเท่านั้น และอาจนึกไม่พอใจที่ตัวเองต้องขี่แค่มอเตอร์ไซค์

จึงมีคำสอนที่ว่า "จงพอใจในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่" ก็คือ สอนให้เราพอใจที่เรามีแค่รถมอเตอร์ไซค์ไปก่อน เพื่อจะได้ไม่ทุกข์จากความอยากมีอยากได้รถเก๋ง เป็นต้น


แต่ถ้าเป็น "จงพอใจในสิ่งที่ตัวเองไม่มีอยู่"  จะหมายถึง รู้สึกดีแล้วที่ยังไม่มีรถเก๋ง แล้วลองคิดถึงเหตุผลว่า ถ้าเรามีรถเก๋งน้้นจริง ๆ ก็ใช่ว่าจะดีเสมอไป หรือทุกข์น้อยลงเสมอไป หากเรายังไม่พร้อมที่จะมีจริง ๆ

เพราะการจะมีรถเก๋งนั้น ต้องมีภาระตามมามากมาย

ไหนจะต้องหาเงินมาดาวน์ในราคาสูงกว่าออกรถมอเตอร์ไซค์ ไหนจะต้องผ่อนรายเดือนหลักหมื่นจนหลายหมื่นต่อเดือน ไหนจะค่าน้ำมัน แถมเวลารถติดก็สิ้นเปลืองกว่าขี่มอเตอร์ไซค์ ทั้งค่าสึกหรอ ค่าอะไหล่ก็สิ้นเปลืองกว่ารถมอเตอร์ไซค๋ทั้งสิ้น

แน่นอนการขี่มอเตอร์ไซค์ปลอดภัยน้อยกว่าการขับรถ แต่ใช่ว่าการขับรถจะปลอดภัยมากกว่าเท่าไหร่นัก แถมต้องจ่ายค่าประกันภัยที่แพงกว่าตั้งเยอะ

ดังนั้น หากเรามาคิดในหลักที่ว่า จงพอใจที่เรายังไม่มีรถเก๋ง เพราะการมีรถเก๋งนั้นต้องมีปัญหาตามมาอีกมากมายร้อยแปด

เราก็จะสบายใจขึ้นกว่าแค่เราต้องพยายามพอใจในสิ่งที่เรามีอยู่ นั่นคือ มีแค่มอเตอร์ไซค์

ซึ่งหลักธรรมะทั้งสองหลักการนี้ ไม่ใช่สอนให้เราไม่พยายามมุมานะหาเงิน เพื่อหาสิ่งที่ดีกว่าเพื่อตนเองนะครับ อย่าไปตีความผิด ๆ แบบนั้น

ดังนั้น ผมจึงอยากจะแนะนำคุณผู้อ่าน ลองคิดในอีกมุมว่า

"จงพอใจในสิ่งที่ตัวเองไม่มีอยู่"  น่าจะเป็นหลักการที่สอนให้เราลองคิดหาเหตุผลมากขึ้นว่า ถ้าเรายังไม่มีสิ่งที่ต้องการนั้น ๆ เราก็สบายดีอยู่เหมือนกัน

จะลองยกตัวอย่างให้คุณผู้อ่านลองพิจารณาอีกสักตัวอย่าง

เช่น ถ้าคุณอยากมีภรรยา (หรืออยากมีสามี) อยากมีครอบครัว แต่คุณยังไม่มี

คุณก็ลองคิดหาเหตุผลดูซิว่า การที่คุณยังไม่มีครอบครัวนั้นมีข้อดีอย่างไร ?

เมื่อหาเหตุผลได้ คุณจะเข้าใจหลัก จงพอใจในสิ่งที่ตัวเองไม่มี ได้ดียิ่งขึ้น

---------------

ข้อดีของความจน

ในดีมีเสีย ในเสียมีดี จงมองหาให้เจอ เช่น

คนรวย เขาอยากกินอะไร เขาก็มีเงินไปหาซื้อกินสนองความอยากของเขาโดยง่าย

คนรวย เขาอยากไปเที่ยวไหน เขาก็มีเงินนำพาเขาไปเที่ยวตามใจอยากเขาได้เสมอ

คนรวย อยากได้ของอะไร ก็มีเงินซื้อของต่าง ๆ ได้สบาย ๆ

ดังนั้นการเป็นคนรวยเลยมักได้ทำตามใจอยากได้เสมอ หากมองในทางโลก เขาโชคดี

หากมองในแง่ธรรมะ ก็บอกว่า การตอบสนองตามความอยากได้ #ง่าย ย่อมเป็นเหตุให้ละความอยากได้ #ยาก

การฝึกใจคือการไม่ทำตามใจกิเลสที่ทะยานอยาก

----------------

หลักเต๋าและหลักเซน ยกย่อง ความไม่มี ยิ่งใหญ่กว่า ความมี

หลักเต๋าและหลักเซน จะยกย่องเรื่อง ความว่าง ซึ่งความว่างก็คือพื้นฐานจากความไม่มี

เฉกเช่น แก้วน้ำใช้ประโยชน์จากความว่าง หรือความไม่มี

เพราะแก้วน้ำมีความว่าง ไม่มีสิ่งใดอยู่ในแก้ว เราจึงจะสามารถเติมน้ำลงไปในแก้วได้ จนเกิดความมี(น้ำ) ขึ้น

ดังนั้น เพราะความไม่มีจึงก่อกำเนิดความมีได้

เฉกเช่น จักรวาล เพราะมีความว่างจึงก่อให้เกิดดวงดาว ได้

แต่หากเราศึกษาหลักเต๋าและหลักเซนให้ถ่องแท้มากขึ้น เราก็จะเข้าใจขึ้นไปอีกระดับหนึ่งที่ว่า

แท้จริงแล้ว ความมี กับ ความไม่มี ล้วนเป็นสิ่งเดียวกัน เฉกเช่น ความสุข กับความทุกข์ แท้จริงก็คือ สิ่งเดียวกัน นั่นเอง

เพียงแต่ในสิ่งเดียวกันนั้น กลับแสดงผลไม่เหมือนกัน จึงทำให้เรามองว่า มันแตกต่างกัน เป็นคนละสิ่งกัน



ความไม่มี - เบากว่า
ความมี - หนักกว่า

คลิกอ่าน ธรรมะหลวงพ่อชา สุข ทุกข์ คือสิ่งเดียวกัน


1 ความคิดเห็น:




counter statistics