วันพุธที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2559

อย่าบำรุงพระจนเกินความพอดีของการเป็นภิกษุ






การบวชเป็นพระนั้น เจตนาหลัก ๆ คือ ศึกษาพระธรรมคำสอน และปฏิบัติตามพระธรรมวินัยให้ได้

(ส่วนจะได้สำเร็จเป็นพระอริยะหรือไม่นั้น ก็แล้วแต่บุคคลไป)

ถ้าทำไม่ได้ตามเหตุผลข้างต้น ก็ไม่สมควรอยู่ในเพศบรรพชิตต่อไป

แต่ในยุคปัจจุบัน ฆราวาสผู้หลงผิดมักมีความเชื่อที่ผิดไปจากเจตนาของพระพุทธเจ้า นั่นก็คือ ฆราวาสมักบำรุงบำเรอภิกษุจนเกินความพอดี บำรุงบำเรอมากเกินไป

จนภิกษุไม่สามารถดำรงตนอยู่อย่างพอเพียงและสมถะ ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระพุทธเจ้า ที่กำหนดให้ภิกษุซึ่งแปลว่า ผู้ขอ จะต้องดำรงตนอย่างสมถะมักน้อย กินน้อย อยู่ง่าย อย่างพอดี แต่ปฏิบัติธรรมให้มาก ที่เรียกว่า ความเพียรในธรรม (การกินมากไป ทำให้เกิดถีนมีนธะหรือการง่วงเหงาหาวนอน)

สิ่งที่ทำให้ฆราวาสเกิดความหลงผิดนั้น ตั้งอยู่บนความเชื่อพื้นฐานที่ว่า การได้ถวายสิ่งอันประณีตแก่ภิกษุผู้ทรงศีลแล้วจะยิ่งได้บุญมาก

เพราะการที่เราจะมอบหรือถวายอะไรให้แก่ภิกษุ เราก็จะต้องถวายให้ด้วยความประณีต เพื่อให้ภิกษุผู้เจริญในธรรมได้มีความสะดวกสบายไม่เดือดร้อน จะได้ไปปฏิบัติธรรมได้อย่างไม่ลำบากจนเกินไป

แต่ด้วยความเชื่อและคำสอนเหล่านี้นี่เอง ที่ทำให้เกิดเป็นช่องว่างให้พวกอลัชชี และภิกษุที่ยังเต็มไปด้วยกิเลส ได้นำมาใช้ล่อหลอกฆราวาสให้ทำบุญเยอะ ๆ ทำบุญด้วยของดีเลิศเพื่อจะได้บุญเยอะ ๆ มาบริจาคถวายปรนเปรอตน

ส่วนฆราวาสก็หวังจะได้บุญมาก ๆ  จึงได้ทำบุญบนพื้นฐานที่เต็มไปด้วยกิเลส เฉกเช่น การลงทุนที่หวังผลกำไรสูง ๆ

ทั้ง ๆ ที่ การบริจาค และการทำบุญนั้น เจตนาที่แท้จริงก็เพื่อลดละความโลภในใจตนเองต่างหาก และเพื่อทำนุบำรุงพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่ต่อไปได้

แต่เพราะคำว่า บุญ นี่แหละ ที่ทำให้ฆราวาสเกิดความหลงผิด ทำบุญให้ภิกษุ จนกลายเป็นบำรุงบำเรอเกินกว่าที่เพศบรรพชิตพึงจะได้พึงจะมี

การทำบุญผิด ๆ จนกลายเป็นความปรนเปรอภิกษุจนเกินความพอดีนั้น ผมว่า ยิ่งจะมีบาปแก่ผู้มอบด้วย เพราะทำให้ภิกษุสุขสบายเกินความพอดี ซึ่งจะเป็นเหตุให้ห่างไกลความเพียรในธรรม และยิ่งห่างไกลคำว่า ลดกิเลส เพราะความสบายจะนำพาให้ภิกษุหลงติดในความสะดวกสบาย และยากที่จะลดกิเลสลง

จนบางทีความหลงในกิเลสของภิกษุอาจเลยเถิด จนเสียความเป็นสงฆ์ไปในที่สุด

ดังนั้นจึงกลายเป็นว่า ฆราวาสช่วยบำรุงกิเลสให้ภิกษุมากยิ่งขึ้น ซึ่งกลายเป็นก่ออกุศลกรรมจากความโง่ของตนที่ไม่ศึกษาคำว่า บุญ ให้เข้าใจถูกต้อง

ซึ่งการปรนเปรอพระจนเกินความพอดี ก็ทำให้เกิดพวกอลัชชีแฝงเข้ามาหากินในผ้าเหลืองมากมาย จนกลายเป็นอาชีพที่สบายที่สุด

ทั้ง ๆ ที่ ความเป็นภิกษุ ไม่ใช่อาชีพ

ถ้าพวกใช้ผ้าเหลืองเป็นอาชีพหากิน พวกนั้นคือ พวกอลัชชี และพวกสมี ทั้งนั้น




เพราะการบวชพระ ไม่ใช่เพื่อความสุขสบาย แต่บวชเพื่อฝึกตนให้ลดละกิเลสตัณหาลง

แม้จะไม่ต้องให้ภิกษุต้องฝึกตนถึงขั้นลำบาก(ตามหลักทางสายกลาง) แต่ก็ต้องไม่สบายจนเกินความพอดี

ตัวอย่างเช่น ภิกษุนอนห้องแอร์ เหมาะสมหรือไม่ ?

คำตอบคือ ไม่เหมาะสม แต่ก็ไม่ถึงกับผิด 

เช่น ถ้าถามว่า การนอนห้องแอร์นอนไปเพื่ออะไร ?

ถ้าเป็นฆราวาสก็คงตอบว่า เพื่อความสุขสบายในการนอน

แต่ภิกษุบวชเข้ามาเพื่อความเพียรในธรรมและฝึกตน จึงไม่ควรเห็นแก่ความสะดวกสบายจนเกินไป

โดยเฉพาะเรื่อง การกิน การอยู่ และการนอน ภิกษุไม่ควรสบายเกินกว่าพระบรมศาสดาจนเกินไป

เพราะในโลกปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีที่เจริญขึ้น ภิกษุก็สะดวกสบายกว่ายุคของพระบรมศาสดาอยู่มากแล้ว

ฉะนั้น อะไรที่จะไม่สะดวกสบายบ้าง เช่น การกิน การนอน ก็อย่าให้มันสบายจนเกินไป อย่าให้มันสบายจนเกินวัตรปฏิบัติของพระพุทธเจ้า แต่ให้ถือเป็นการฝึกตนอย่างหนึ่ง

แน่นอน คงไม่ถึงกับให้ภิกษุต้องกลับไปลำบากเหมือนเมื่อกว่าสองพันห้าร้อยปีที่ผ่านมา

แต่อย่างน้อย เช่น การกิน การอยู่และการนอน ก็อย่าให้สะดวกสบายจนเกินเหตุเลย เพราะยิ่งสบายมาก ก็ยิ่งย่อหย่อนในความเพียรมาก

ถ้าจะมีพัดลมสักตัวเพื่อช่วยคลายร้อนสำหรับภิกษุในห้องพักบนกุฏิบ้าง ก็ถือว่า หรูกว่าสมัยพุทธกาลมากแล้ว ซึ่งก็พออนุโลมได้ จะได้ไม่ร้อนไม่ลำบากจนเกินไป

แล้วภิกษุนั้นดำรงอยู่ได้เพราะการเป็น ผู้ขอ อยู่ได้เพราะชาวบ้านบริจาคถวายให้ จึงไม่ควรทำตัวให้รวยกว่าชาวบ้านจนเกินงาม

เช่น ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังนอนห้องธรรมดาไม่มีแอร์ได้ แต่ภิกษุผู้ซึ่งต้องฝึกฝนตน กลับอยู่สะดวกสบายกว่าชาวบ้าน มันน่าละอายใจไหมนะ

แต่ความจริงแล้ว ฆราวาสเองนั่นแหละ ที่ไม่ศึกษาแก่นแท้ของการทำบุญที่ดีพอ จึงหลงผิดบำรุงบำเรอพระจนกลายเป็นเศรษฐีในผ้าเหลืองไปแล้ว

"เป็นพระต้องจน" สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ทรงเคยสอนไว้

คลิกอ่าน สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ทรงอยู่อย่างจน

4 ความคิดเห็น:

  1. มุมมองน่าสนใจค่ะ พึงสำรวมทั้งผู้ให้และผู้รับ ในความพอสมควรแก่เหตุปัจจัย

    ตอบลบ
  2. ผมว่า 2 อย่างนี้ ศึกษาพระธรรมคำสอน และปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ยังไม่พอครับ ต้องเผยแพร่สั่งสอน จะโดยธุดงค์ หรือ ตอนเย็นตอนค่ำชาวบ้านกลับจากทำไร่ทำนากินข้าวปลาแล้วไปพบไปคุยถามสารทุกข์สุกดิบ พูดคุยใครมีปัญหาก็ใช้ธรรมมะสั่งสอน ตามบ้านหรือลานในหมู่บ้าน ยกเว้นในตัวเมืองคงทำไม่ได้ ผมว่าจะทำไห้ชาวบ้านฉลาดขึ้นไม่ถูกหลอกง่ายๆผมคิดอย่างนี้นะ สมัยก่อนวันพระผมจะตามแม่ไปทำบุญที่วัดเป็นบางครั้งพระก็เทศน์ให้ญาติโยมที่ไปทำบุญได้ฟัง เดี๋ยวนี้เป็นอย่างไรบ้างไม่รู้นะ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขอบคุณครับ ที่ช่วยเตือนเรื่องการเผยแพร่
      งั้นขอชี้แจงนิดนึงคือ ที่ผมยังไม่ลงเรื่อง หน้าที่การเผยแผ่ศาสนา

      เพราะคิดว่า ถ้าเรื่องหลัก ๆ 2 เรื่องยังไม่ผ่าน คือ การศึกษาธรรม และการปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ก็สมควรสึกออกจากเพศบรรพชิต

      ผู้ที่ยังไม่ผ่านเรื่องหลัก ๆ 2 เรื่องนี้ ไม่สมควรดำรงตนเป็นภิกษุ เพื่อไปเผยแพร่คำสอนที่อาจบิดเบือนได้น่ะครับ เพราะจะกลายเป็นพวกอลัชชีหากินในผ้าเหลือง

      ลบ




counter statistics