วันเสาร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2558

ต้องปฏิรูปการผ่อนบ้านกับธนาคารที่เอาเปรียบคนไทย






ปัญหาที่ดินความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่มากที่สุดก็คือ ที่ดินจำนวน 80 % ของประเทศไทยตกอยู่ในมือของคนไม่ถึง 20 %

แม้ตอนนี้นายกฯ ประยุทธ์ สั่งให้ชะลอเรื่องภาษีบ้านและที่อยู่อาศัยออกไปก่อนก็ตาม แต่ผมว่า ท่านไม่ควรหยุดปฏิรูปภาษีที่ดินว่างเปล่าที่ถูกกักตุนอยู่ในมือเศรษฐี

สิ่งที่ควรเร่งทำก็คือ ทำอย่างไรที่มหาเศรษฐีที่กักตุนที่ดินมากมายยอมปล่อยที่ดินว่างเปล่าเหล่านั้นออกมาโดยเร็วที่สุด

แน่นอน ถ้ารัฐบาลขึ้นภาษีที่ดินว่างเปล่าแบบไม่ฉลาดล่ะก็ ที่ดินว่างเปล่าในมือเศรษฐีเหล่านั้นก็ไม่เดือดร้อนหรอก เพราะเขาก็จะผลักภาระไปที่ต้นทุนการขายอสังหาริมทรัพย์ราคาแพงไปให้ผู้บริโภคอยู่ดี

สุดท้ายปัญหาที่ดินราคาแพง ทำให้คนไทยต้องซื้อบ้านราคาแพงเว่อร์เกินไปจนต้องผ่อนบ้านไปเกือบทั้งชีวิต ก็จะไม่ได้รับการแก้ไข


http://imgur.com/4CFVHHz

แล้วทำอย่างไรถึงจะแก้ปัญหาการกักตุนที่ดินเปล่าประโยชน์ไปถึงต้นเหตุของปัญหาบ้านราคาแพงเว่อร์ ?

แน่นอน มาตรการภาษีที่ดินว่างเปล่าก็ต้องเพิ่มสูงขึ้น แต่นั่นไม่ใช่วิธีแก้ที่ตรงต้นเหตุเท่าไหร่

เพราะปัญหาที่ดินว่างเปล่าและปัญหาบ้านราคาแพงเกินไป มันอยู่ที่ธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายนั่นแหละครับ

เพราะธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ให้นายทุนไปซื้อที่ดินกักตุนได้ นั่นจึงเป็นเหตุให้ที่ดินราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะนายทุนก็ต้องบวกค่าดอกเบี้ยธนาคารไว้ในต้นทุนของราคาอสังหาริมทรัพย์ด้วย

หรือแม้แต่นายทุนที่กักตุนที่ดินโดยไม่ได้กู้จากธนาคารก็ตาม แต่สุดท้ายพอจะสร้างอสังหาริมทรัพย์ขาย เขาก็ต้องบวกกำไรและดอกเบี้ยเงินฝากที่เขาต้องเสียไประหว่างกักตุนที่ดินนั้นอยู่ดี

เมื่อราคาบ้านต้องแพงกว่าปกติ จากการที่นายทุนซื้อที่ดินเก็งกำไรทิ้งไว้นานหลายปี บวกกับกำไรที่นายทุนต้องการ พอประชาชนที่ซื้อบ้านแล้วไม่มีปัญญาผ่อนต่อ จนปล่อยบ้านหลุด จนธนาคารมายึดบ้าน แต่แทนที่หนี้ที่มีกับธนาคารจะหยุดลงด้วย

แต่กลายเป็นว่า ถ้าธนาคารนำบ้านไปขายทอดตลาด แล้วยังได้เงินไม่พอต้นทุนราคาบ้าน รวมถึงดอกเบี้ยในระยะเวลาที่บ้านยังขายไม่ออก ที่จะทบดอกเบี้ยอีกเยอะแยะมาขูดรีดกับผู้ซื้อบ้านต่อไป นี่คือ ความอยุติธรรมของการผ่อนบ้านของคนไทย

ทั้ง ๆ ที่ ถ้านับกันจริง ๆ บางที เงินผ่อนบ้านที่ผู้ซื้อผ่อนมาก็อาจเกินราคาบ้านไปแล้ว แต่ธนาคารเขาถือว่า เขาไม่สน เพราะถ้าขายบ้านไปแล้วธนาคารยังไม่ได้กำไรจากราคาบ้านและกำไรจากดอกเบี้ยที่ควรได้ ธนาคารเขาก็จะมาไล่ทวงหนี้กับผู้ซื้อบ้านจนถึงที่สุดอยู่ดี

นี่คือการเอาเปรียบคนไทยจากระบบนายทุนและธนาคาร

แล้วทำไมเป็นแบบนั้น ?

ก่อนอื่นต้องดูประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในมาตรา 733 ก่อนครับ

มาตรา 733 ในกฏหมายแพ่งแลพาณิชย์ เขียนไว้ว่า

"ถ้าเอาทรัพย์จำนองหลุดและราคาทรัพย์สินนั้นมีประมาณต่ำกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่ก็ดี หรือถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่นั้นก็ดี เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใดลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น"

ถ้ากฎหมายมาตรา 733นี้บังคับใช้ได้จริง ๆ เมื่อธนาคารได้ยึดบ้านจากผู้ผ่อนบ้านไปแล้ว ก็ควรจบ ธนาคารไม่สามารถมาเรียกร้องอะไรจากผู้ผ่อนบ้านได้อีก

แต่ในโลกแห่งความจริง กฎหมายแพ่งฯ มาตรา 733 นี้ ไม่มีการถูกนำมาใช้จริง เพราะเวลาผู้ผ่อนบ้านไปทำสัญญากับธนาคาร ในสัญญาผ่อนบ้านกับธนาคารจะมีข้อตกลงที่ระบุไว้ที่เรียกว่า การทำสัญญาพิเศษท้ายมาตรา 733 นั้น คือ ข้อตกลงยกเว้น ปพพ. 733 จึงกลายเป็นว่า

"สัญญาที่ระบุว่าหากนำทรัพย์ที่จำนองออกขายทอดตลาดแล้ว ยังได้ราคาต่ำกว่าหนี้สินที่ค้างชำระกันอยู่ ลูกหนี้ก็ยังต้องรับผิดในส่วนที่ขาด"

ดังนั้นเมื่อสัญญาผ่อนบ้านของธนาคารได้เขียนในสัญญาว่า ยกเว้น ปพพ. 733 ก็เลยทำให้หากธนาคารยึดบ้านไปแล้ว เอาไปขายทอดตลาด ธนาคารยังไม่ได้คุ้มค่ากับดอกเบี้ยและเงินต้นที่ผู้ผ่อนบ้านค้างอยู่ เขาก็จะมาไล่เบี้ยกับผู้ผ่อนบ้านอยู่ดี

ตัวอย่างเช่น ป๋าเทพ โพธ์งาม ซื้อทาวน์เฮ้าสไว้ 5 หลังติดกันที่ชลบุรี มีภาระต้องผ่อนธนาคารจนเหลือหนี้แค่ 7 แสนบาท แต่ต่อมาเศรษฐกิจไม่ดีในปี 40 คาเฟ่ก็เลิกราไป งานน้อย รายได้น้อยลง ป๋าเทพเลยไม่คิดผ่อนบ้านต่อไปทั้ง ๆ ที่ผ่อนมาแล้ว 1 ปี ก็เลยปล่อยให้ธนาคารยึดบ้านทั้ง 5 หลังไป

แต่อยู่ ๆ ผ่านไปกว่า 10 ปีมีจดหมายธนาคารมาทวงหนี้ป๋าเทพ เป็นเงิน 2 ล้านบาท ทั้ง ๆ ที่ธนาคารก็ขายบ้านไปแล้ว

แต่ในช่วง 10 ปีที่ป๋าเทพขาดส่ง ก็เลยมีการทบต้นทบดอก บวกค่าธรรมเนียมทวงหนี้ บวกค่าอะไรอีกมากมายจนกลายเป็นหนี้ถึง 2 ล้านบาท สุดท้ายป๋าเทพต้องกลายเป็นคนล้มละลาย

จากกรณีป๋าเทพ ดังกล่าว หากกฎหมาย ปพพ.มาตรา 733 สามารถบังคับใช้ได้จริง เมื่อธนาคารยึดบ้านไปแล้ว ก็ต้องถือว่าจบ ไม่อาจตามทวงหนี้ได้อีก

ป๋าเทพเองก็เคยคิดเช่นนั้นว่า ปล่อยให้ธนาคารยึดไปก็คงจบ แต่เพราะระบบนายทุนที่ค้ำฟ้าไทยอยู่ กรณีบ้านป๋าเทพ เลยไม่จบ

ก็เพราะในสัญญาผ่อนบ้านของธนารคารไทยทุกธนาคารได้ระบุให้ยกเว้น ปพพ.733 เลยทำให้ธนาคารได้เปรียบทั้งขึ้นทั้งล่องคือ ยึดบ้านได้ ถ้าไม่หนำใจในกำไรก็มาไล่เบี้ยเอากับคนผ่อนบ้านต่อไป

กฎหมายไทยอ่อนแอ พอลูกหนี้โดนยึดบ้านแล้ว โดนไล่ออกจากบ้านก็แล้ว ก็ต้องเป็นหนี้ไปจนกว่าจะใช้หนี้ธนาคารหมด แถมระหว่างเป็นหนี้จะไปซื้อบ้านผ่อนบ้านใหม่อีกก็ไม่ได้ เพราะจะติดเครดิตบูโร เพราะนี่มันคือ สัญญาทาส


----------------------

ปฏิรูปการผ่อนบ้าน ด้วยการ ห้ามยกเว้น ปพพ.มาตรา 733

ถ้าเราปฏิรูปสัญญาผ่อนบ้านของธนาคาร โดยห้ามระบุข้อยกเว้น ปพพ.733 ไว้ในสัญญาผ่อนบ้านได้ จะเกิดผลดีหลายอย่างคือ

จะช่วยลดการกักตุนที่ดินของพวกนายทุนเพื่อการเก็งกำไร เพราะธนาคารจะระวังการปล่อยกู้ให้นายทุนไปกักตุนที่ดินเพื่อรอสร้างอสังหาริมทรัพย์ในราคาแสนแพงมากขึ้น

เพราะถ้าบ้านราคาแพงมากไป ก็จะเป็นความเสี่ยงที่มากขึ้นของธนาคารเอง เพราะถ้าคนผ่อนบ้านราคาแพงต่อไม่ไหว ปล่อยให้ธนาคารยึดบ้าน ธนาคารก็จะมาไล่เบี้ยต่อกับผู้ผ่อนบ้านต่ออีกไม่ได้ จึงจะทำให้ราคาบ้านและที่ดินโดยรวมจะถูกลงแน่นอน

ในเมื่อธนาคารไล่เบี้ยกับผู้ขาดผ่อนบ้านต่อไม่ได้ ธนาคารก็จะไม่อยากให้ราคาบ้านแพงเกินไป ก็จะลดการปล่อยกู้ให้นายทุนอสังหาริมทรัพย์ที่กักตุนที่ดินเก็งกำไรที่ดินจนแพงเว่อร์ อันเป็นเหตุให้คนไทยต้องซื้อบ้านแพงกว่าที่ควรจะเป็น

ประเทศที่เจริญแล้วในโลก เช่น สหรัฐอเมริกา หากธนาคารยึดบ้านแล้วก็จบ ไม่สามารถไปไล่เบี้ยกับผู้ผ่อนบ้านได้อีก แฟร์ ๆ ดี นั่นจึงทำให้ราคาบ้านและที่อยู่อาศัยในสหรัฐอเมริกาไม่แพงเว่อร์เหมือนประเทศไทย เมื่อเทียบกับค่าแรงและค่าครองชีพของแต่ละประเทศ

แต่เพราะการยกเว้น ปพพ.มาตรา 733 นี่แหละ ที่ทำให้พวกนายทุนอสังหาริมทรัพย์และธนาคารได้ใจ อยากจะกักตุนที่ดินเก็งกำไร อยากจะขายบ้านเอากำไรแพง ๆ ก็ไม่ต้องห่วง เพราะสุดท้ายภาระทั้งหมดจะไปตกที่ผู้ซื้อบ้านแทน ซึ่งเป็นแบบนี้ทั้งระบบทั่วประเทศ

นี่คือระบบนายทุนและธนาคารที่เอาเปรียบคนไทยทั้งประเทศมานานแล้ว เลยทำให้คนไทยต้องแบกภาระผ่อนบ้านกันนานร่วม 30 ปี จนเกือบจะแก่ตายถึงจะผ่อนหมด

ซึ่งระบบผ่อนบ้านที่คนไทยถูกเอาเปรียบนี้ มันก็ลามเป็นลูกโซ่ไปถึงระบบอื่น ๆ ด้วย เมื่อบ้านแพง เมื่อที่ดินแพง ราคาสินค้า ราคาอาหารจานเดียวก็ต้องแพงไปด้วย เพราะราคาอสังหาริมทรัย์คือค่าโสหุ้ยของต้นทุนทุกอย่างในประเทศนี้

จริงไหมครับ ?

สาเหตุวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ก็เพราะการเก็งกำไรที่ดิน รวมทั้งการซื้อบ้านซื้อคอนโดมิเนียมเพื่อการเก็งกำไร นี่แหละครับ ถ้าสามารถปฏิรูประบบการผ่อนบ้านที่เป็นธรรมต่อคนไทยได้ การเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์ก็จะลดลงแน่นอน

แม้ ยุคนี้ธนาคารจะระวังไม่ปล่อยกู้ง่าย ๆ เหมือนเดิม แต่ฉลาดขูดรีดขึ้นมากกว่าเดิม 

เช่น เดี๋ยวนี้ใครจะไปผ่อนบ้านกับบางธนาคาร อาจโดนบังคับให้ทำประกันชีวิตพ่วงผ่อนบ้านด้วย คือถ้าผู้ผ่อนบ้านเกิดตายก่อนผ่อนบ้านหมด ธนาคารก็จะเอาเงินจากประกันชีวิตไปใช้หนี้บ้านแทน ซึ่งตอนนี้รัฐบาล คสช. กำลังแก้กฎหมายเพื่อเอาผิดธนาคารที่บังคับลูกค้าสินเชื่อทำประกัน

ถ้ารัฐบาล คสช. กล้าแก้ปฏิรูปเรื่องการผ่อนบ้านที่เอาเปรียบคนไทย ก็ถือว่า ได้ทำบุญครั้งใหญ่ทีเดียว เพราะอำนาจของพวกท่านสามารถทำได้แน่นอน

แต่หากยุค คสช. ยังปฏิรูปเรื่องนี้ไม่ได้ ก็เลิกหวังที่คนไทยจะไม่โดนเอาเปรียบจากระบบนายทุนไปตลอดชาติครับ เพราะนายทุนพรรคการเมืองก็มาจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั้งนั้น จริงไหม ?

-->

6 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ18 มีนาคม 2558 เวลา 00:19

    พึ่งทราบนะครับว่ามีแบบนี้ด้วย แล้วทำไมไม่เคยมีใครคิดแก้ไขเลยหรือครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ยากครับที่จะมีใครแก้ไข เพราะผลประโยชน์เรื่องนี้กระทบนายทุนใหญ่ของประเทศนี้ ทั้งธนาคารทุกธนาคาร ทั้งบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเขามีอิทธิพลใหญ่ทางการเมืองในประเทศนี้ครับ

      เพราะทุกพรรคการเมืองล้วนเป็นนายทุนใหญ่อสังหาริมทรัยพ์ทั้งสิ้น

      ลบ
  2. ถึงว่าสิคนจนมีบ้านหลังเดียวผ่อนกันเหงือกแห้งเพื่อมาเลี้ยงเจ้าของธนาคารกี่รัฐบาลผ่านไปก็ไม่เห็นจะมาช่วยมีแต่จะมาขูดรีดซ้ำอีก ถ้าไม่จัดระเบียบธนาคารที่ชอบโขกสับหากำไรเกินไปในช่วงนี้ตายแล้วเกิดใหม่ที่อื่นดีกว่า

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ11 สิงหาคม 2558 เวลา 20:44

    อ่านแล้วถูกใจมาก น่าจะร้องเรียนผ่าน1111 นะ เอาเปรียบประชาชนจริงๆไม่เจอกับใครคงไม่รู้สึก ลูกหนี้อาจจะมีหลายประเภทมีทั้งเจตนาชักดาบจริง แต่บางครั้งเจอวิกฤตจริง แต่พอตัดสินปัญหาใช้มาตรการเดียวกันอย่างไร้มนุษยธรรมกับกลุ่มคนโดนยึดบ้าน อยากให้ช่วยคนกลุ่มนี้จริงๆ คนบางกลุ่มที่มองปัญหาไม่เข้าใจ มักจะหาว่าลูกหนี้ขาดความรับผิดชอบ หนี้เสีย ทั้งๆที่เงินที่ส่งค่าบ้านดอกเบี้ยน่ะเลี้ยงพนง.ธนาคารเท่าไรนับไม่ถ้วน คิดแต่จะได้เพิ่มอย่างไร้มนุษยธรรมจริงๆ

    ตอบลบ
  4. ไม่ระบุชื่อ30 ตุลาคม 2559 เวลา 06:43

    อำนาจทุนนิยมที่เข้ามาบ่อนทำลายสังคมไทยครับ กักตุนที่ดิน สั่งตัดถนนผ่าน ราคากระโดดพรวด ไม่ต้องคิดมากคับ หลากหลายรูปแบบของระบบทุนนิยมที่ไม่เคยรู้จักคำว่าพอเพียง

    ตอบลบ
  5. ไม่ระบุชื่อ19 ธันวาคม 2560 เวลา 21:23

    ปฎิรูปการได้ตัวแทนจากการเลือกตั้งก่อนครับให้ได้คนดีเข้ามาได้โดย
    1.กำหนด% ขั้นต่ำของผู้มาใช้สิทธิ หากน้อยกว่านั้นเป็นโฆษะ
    2. " % " คะแนนผู้ได้รับเลือกตั้งต้องเป็นกี่% ของจน.ผู้มาใช้สิทธิ
    3.หากไม่ถึงจัดเลือกตั้งใหม่ รัฐฯสนับสนุนค่าเดินทาง เช่น ลด50%,กม.ตัดสิทธิหากไม่ไปเลือกตั้ง

    ตอบลบ




counter statistics