แม่ผมทำงานในบริษัทผลิตและเครื่องใช้ไฟฟ้าของญี่ปุ่นยี่ห้อหนึ่ง เวลาผมเลิกเรียนอนุบาล ก็ต้องไปนั่งรอแม่เลิกงาน ในโชว์รูมของบริษัททุกวัน
ผมเดินดูราคาเครื่องใช้ไฟฟ้าในโชว์รูมตั้งแต่เด็ก จำได้ว่า ทีวีสีขนาด 20 นิ้ว เมื่อ 35 ปีก่อนใส่ตู้ไม้อย่างดี ราคาประมาณหมื่นห้าพันบาท
ซึ่งในสมัยนั้น ราคาข้าวเปลือกเกวียนละเท่าไหร่ผมไม่แน่ใจ แต่น่าจะราคาเกวียนละไม่เกิน 800 บาท และจำได้แต่ว่า ข้าวแกงราคาจานละ 2 บาทเท่านั้น
แต่ในปัจจุบัน ทีวีสี 21 นิ้ว จอแบน ราคาเครื่องละ 2 พันกว่าบาทเท่านั้น ในขณะที่ข้าวเปลือกราคาเกวียนละ 8 พันบาท ณ.วันนี้ปี 2557 (ซึ่งถ้าไม่มีข้าวค้างในสต็อครัฐบาลมากถึง 18 ล้านตัน ราคาข้าวในวันนี้ก็น่าจะแตะ 9,000 - 10,000 บาทได้)
ค่าแรงขั้นต่ำเมื่อ 30 กว่าปีก่อนตกวันละ 30 บาท แต่ทั้ง ๆ ที่ค่าแรงขั้นต่ำในวันนี้ คือ 300 บาท/วัน ส่วนราคาทีวีสีในยุคนี้กลับถูกลงกว่าเมื่อ 30 กว่าปีก่อนหลายเท่า ค่าแรงขั้นต่ำแพงขึ้น แต่ราคาทีวีสีกลับถูกลง
และผู้ผลิตทีวีขายในวันนี้ ส่วนใหญ่เขาก็ยังรวยเหมือนเดิม (แม้จะมีหลายยี่ห้อเลิกราในไทยไปแล้วก็ตาม)
ถามว่า ทำไมทีวีสึราคาถูกลงมาก ผู้ผลิตทีวีกลับไม่มีใครผูกคอตาย ?
ในขณะที่ข้าวเปลือกในวันนี้ราคาแพงกว่าเมื่อ 30 กว่าปีก่อนหลายเท่า แต่ชาวนาไทยกลับยากจนซ้ำซากเหมือนเดิม
นี่คือความผิดปกติของระบบเศรษฐกิจแล้วล่ะครับ เพราะราคาอาหารแพงขึ้น ตามหลักผู้ผลิตอาหารควรจะรวยขึ้นใช่ไหม แต่กลายเป็นว่า อาหารแพงขึ้นผู้ผลิตอาหารกลับยิ่งจนลง แต่นายทุน พ่อค้าคนกลางยังรวยมากขึ้นเหมือนเดิมทุกยุคทุกสมัย
ทำไมข้าวเปลือกแพงขึ้น แต่ชาวนาผูกคอตายเพราะหนี้ทุกปี ?
หลายสิบปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ผมยังเด็กจนวันนี้ ยังไม่มีรัฐบาลไหนแก้ปัญหาความยากจนของชาวนาได้จริงเลยสักรัฐบาล
เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ดูข่าวเอเชียนคอนเนค เป็นสกู๊ปข่าวของมาเลเซียที่ทำขึ้นเพื่อเปรียบเทียบมาเลเซียกับไทบ
มาเลเซียเขาบอกว่าทุกวันนี้ไม่มีชาวนามาเลเซียออกมาประท้วงรัฐบาลนานนับเป็นสิบปีแล้ว และรัฐบาลมาเลเซียก็เลิกอุดหนุนช่วยเหลือราคาข้าวให้กับชาวนามาเลเซียมานานแล้วด้วย
มาเลเซียเขาทำยังไง เกษตรกรมาเลเซียถึงไม่ออกมาประท้วงรัฐบาลอีก ?
เขาก็สอนให้เกษตรกรและชาวนาฉลาดขึ้นไงครับ สอนให้เกษตรกรรู้ว่า ถ้าคุณยังมัวแต่ผลิตผลผลิตทางการเกษตรออกมาเยอะ ๆ จนเกินปริมาณความต้องการของตลาด ราคาผลผลิตมันก็ต้องตกลงมาก คุณก็จะขาดทุน
รัฐบาลมาเลเซียเขาสอนให้เกษตรกรรู้ว่า ถ้าราคาผลผลิตเท่านี้่ ถ้าคุณไม่สามารถกำหนดราคาตลาดเองได้ จะทำอย่างไรคุณจะไม่ขาดทุน นั่นคือ คุณก็ต้องลดต้นทุนการผลิตให้ได้มากที่สุด แต่ให้ได้ผลผลิตไม่น้อยลงกว่าเดิมหรือควรให้ได้มากขึ้นกว่าเดิม โดยต้นทุนลดลง
รัฐบาลมาเลเซียเขาสอนให้เกษตรกร ชาวนายืนอยู่บนโลกแห่งความเป็นจริง พึ่งตนเองให้ได้ ไม่ใช่คอยหวังแต่พึ่งรัฐบาล เพราะนั่นจะเป็นหายนะของทุกคนในประเทศ
แม้แต่เรื่องยางพาราก็เช่นกัน มาเลเซียเขาก็ไม่สนับสนุนให้คนมาเลเซียปลูกยางพาราอีกแล้ว เพราะประเทศไหน ๆ เดี๋ยวนี้เขาก็ปลูกยางพาราได้ทั้งนั้น เมื่อมีผู้ผลิตมาก ราคายางก็ตกแน่นอน
มาเลเซียเขาหันมาซื้อยางพาราราคาถูก ๆ จากไทยเรานี่แหละครับไปแปรรูป จนวันนี้มาเลเซียคือ ปนะเทศผู้นำการแปรรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ หลายชนิดจนเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกไปแล้ว โดยที่รัฐบาลไม่ต้องมีปัญหากับชาวสวนยางอีกด้วย
แถมมาเลเซียเขายังอวดว่า พื้นที่ทางการเกษตรของเขาน้อยกว่าไทยเกือบครึ่ง แต่เขาส่งออกผลผลิตทางการเกษตรกลับมีมูลค่ามากกว่าไทย
เพราะรัฐบาลไทยทุกยุค สอนให้เกษตรกรไทยอ่อนแอ ชอบเอาประชานิยมมาล่อ สุดท้ายชาวนา ชาวสวนยาง และเกษตรกรอีกหลายประเภท ก็ยากจนเหมือนเดิม จนต้องมาประท้วงเรียกร้องของความช่วยเหลือจากรัฐบาลทุกปี
วานนี้ก็มีข่าวชาวนาสุรินทร์ผูกคอตายไปอีกคน โดยผู้ตายมีอาการเครียด บ่นให้ภรรยาฟังอยู่เป็นประจำมานาน 3 วัน และบอกว่า คงจะอยู่ด้วยกันไปอีกได้ไม่นาน สภาพปัญหาเช่นนี้คงต้องตายแน่
เพราะราคาข้าวก็ตกต่ำอยู่แล้ว ประกอบกับสภาพความเป็นอยู่นับวันยิ่งย่ำแย่ลง ถูกกดขี่ข่มเหงทุกอย่างไม่มีอะไรที่ดีขึ้นยิ่งทำก็ยิ่งจน ทำนามีค่าใช้จ่ายมาก ทั้งค่าปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และเงินคงไม่พอใช้หนี้ ไหนจะมีค่าเกี่ยวข้าวไร่ละ 500-600 บาท ทำนา 10 ไร่ หาเงินจ่ายค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าจ้างไถ ค่าเก็บเกี่ยวก็หมดแล้ว
โดยผู้ตายได้บ่นกับภรรยาครั้งสุดท้ายเมื่อช่วงค่ำที่ผ่านมา พอตื่นเช้าขึ้นมาวันนี้ (27 ต.ค.) พบผูกคอตายกับคานไม้หน้าบ้าน
---------------------
ต้นทุนการผลิตข้าวหอมอันดับ 1 ของโลกของเขมร มีต้นทุนการปลูกแค่ไร่ละ 2 พันบาทเท่านั้น
ถ้าชาวนาไทยไม่ปรับตัวให้ทันยุค AEC ที่กำลังจะมาถึง แม้แต่คนไทยด้วยกันก็อาจจะหันไปกินข้าวหอมเขมร กับ ข้าวหอมพม่าแทนแน่นอน
คลิกอ่าน เมื่อ อบจ.อ่างทอง ช่วยให้ชาวนาอ่างทองฉลาดขึ้น